ข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์

โครงการสำรวจความเสี่ยงภัยพิบัติทางธรรมชาติ

เว็บไซต์ความเสี่ยงภัยพิบัติทางธรรมชาติ และแผนที่ความเสี่ยงภัยพิบัติในสถานศึกษาสังกัด สพฐ.

ประเทศไทยเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นประจำทุกปี และได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติขั้นรุนแรงหลายครั้ง เช่น การเกิดคลื่นยักษ์สึนามิในหกจังหวัดภาคใต้ และมหาอุทกภัยเมื่อปีพ.ศ. 2554 นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกส่งผลกระทบให้ภัยธรรมชาติในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะมีความถี่และความรุนแรงมากขึ้นกว่าในอดีต นักวิทยาศาสตร์พบว่าในช่วงระยะ 20 ปีมานี้ ประเทศไทยมีภัยที่เกิดจากแผ่นดินถล่มมีมากกว่าเดิม 10 เท่า มีปัญหาการเซาะชายฝั่งเกือบร้อยละ 30 และเกิดแผ่นดินไหวขนาดกลาง 6.3 แมกนิจูดที่จังหวัดเชียงรายซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 100 ปี

ภาคการศึกษาก็ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาสถานศึกษาได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติมาโดยตลอด โดยเฉพาะความเสียหายจากวาตภัยและอุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกฤดูกาล ทำให้กระทรวงศึกษาธิการต้องจัดสรรงบประมาณจำนวนมากในการฟื้นฟูซ่อมแซมอาคารสถานที่ บ่อยครั้งที่ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเป็นอุปสรรคต่อการจัดการเรียนการสอน ทำให้ต้องหยุดเรียน ครูต้องหาวิธีการชดเชยเวลาเพื่อให้นักเรียนได้เรียนครบหลักสูตร แม้ว่าภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจะไม่ได้ส่งผลให้ครู นักเรียนและครอบครัวของบุคลากรต้องเสียชีวิตเป็นจำนวนมากเหมือนประเทศอื่นๆ แต่ความเสียหายที่เกิดกับอาคารสถานที่ ส่งผลถึงความมั่นใจในความปลอดภัยของสถานศึกษาและการเสียโอกาสในการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ การเรียนรู้เรื่องการลดความเสี่ยงภัยพิบัติในสถานศึกษาจึงเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญต่อชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียนและครูอย่างมาก

ความตระหนักในการลดความเสี่ยงภัยพิบัติทางธรรมชาติของสถานศึกษา

เป้าหมายของการลดความเสี่ยงภัยพิบัติในสถานศึกษา คือ การที่บุคลากรทางการศึกษา ครูและนักเรียนมีความสามารถในการเรียนรู้ความเสี่ยงภัยของตนโดยเฉพาะภัยในพื้นที่ สามารถวางมาตรการและวิธีการปฏิบัติ ตลอดจนสามารถดูแลรักษาโครงสร้างและกลไกพื้นฐานให้ปลอดภัยเพื่อลดผลกระทบจากภัยธรรมชาตินั้นๆ และหากประสบภัยพิบัติจากธรรมชาติก็สามารถฟื้นตัวได้ด้วยแนวทางและทรัพยากรที่มีในระยะเวลาที่เหมาะสม การรู้จักความเสี่ยงภัยของตนเองอย่างแท้จริงจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการวางแผนลดความเสี่ยงภัยพิบัติ

บทบาทหน้าที่ของภาคการศึกษาในการจัดการภัยพิบัติ

ปัจจุบันประเทศไทยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ "การจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย" ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 ภายใต้ กรอบการทำงานลดความเสี่ยงภัยพิบัติ พ.ศ. 2558 - 2573 (Sendai Framework for. Disaster Risk Reduction 2015 – 2030 หรือ SFDRR) หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า "กรอบเซนได" ซึ่งเป็นกรอบการทำงานตามมาตรฐานสากลกินระยะเวลา 15 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2558 ถึง พ.ศ. 2573

แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 ได้กำหนดบทบาทหน้าที่ให้หน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการลดความเสี่ยงภัยพิบัติ โดยกระทรวงศึกษาธิการได้รับมอบหมายหน้าที่ต่อไปนี้

  1. พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกระดับชั้น ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษา
  2. ส่งเสริมหน่วยงานการศึกษาให้มีบทบาทในการช่วยเหลือสนับสนุนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
  3. ส่งเสริมให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกแก่นักเรียน นักศึกษา ประชาชนให้มีส่วนร่วมในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
  4. สนับสนุนบุคลากรทางการศึกษา เช่นลูกเสือ เนตรนารี เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่
  5. สำรวจและจัดทำฐานข้อมูลสถานศึกษาเพื่อใช้เป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว