กระบวนการเกิดน้ำท่วม

ภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศไทย

กระบวนการเกิดน้ำท่วม

ท่วมหรือสภาพที่มีปริมาณน้ำมากกว่าปกติในหนึ่งพื้นที่ เป็นกระบวนการทางธรรมชาติ มีปัจจัยกระตุ้นโดยตรงมาจากสภาพฝนตกหนักมากกว่าปกติ หรือฝนตกสภาพปกติเป็นเวลานาน จนทำให้พื้นดินอิ่มตัวไปด้วยน้ำและน้ำไม่สามารถไหลซึมลงสู่พื้นดินได้อีก ส่งผลให้เกิดมวลน้ำเอ่อและไหลล้นตามผิวดิน (Runoff) ไหลต่อเนื่องลงสู่ลำห้วย ลำธาร แม่น้ำ หรือบริเวณที่ต่ำกว่า น้ำที่เอ่อล้นและไหลหลากมากกว่าปกตินี้ เรียกว่า น้ำท่วม (Flood) กรณีน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำหรือพื้นที่ที่มีความลาดชัน มักถูกเรียกว่า น้ำท่วมฉับพลัน (Flash Flood) สำหรับกรณีน้ำท่วมที่ปริมาณน้ำมากกว่าความจุของลำน้ำในรูปของน้ำท่า (Discharge) มักถูกเรียกว่า น้ำท่วมล้นตลิ่ง (Overbank Flood) หากการท่วมเป็นพื้นที่บริเวณกว้างในที่ราบลุ่มตามลำน้ำและมักท่วมเป็นประจำ จะเรียกว่า ที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง (Floodplain)

ตัวอย่างผลกระทบจากน้ำท่วมของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2554

ประเทศไทยเคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมหรืออุทกภัยมาแล้วหลายครั้ง จากข้อมูลของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวว่าเหตุการณ์น้ำท่วม ปี พ.ศ. 2554 เป็นปัญหาอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศไทย แสดงภาพตัวอย่างเหตุการณ์ดังรูปที่ โดยเกิดเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปี และมีพื้นที่ประสบภัยกระจายตัวในทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางที่เกิดน้ำท่วมหนักเป็นระยะเวลานาน ยิ่งไปกว่านั้นพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งเกิดน้ำท่วมหนักในรอบ 70 ปี หากนับจากเหตุการณ์
น้ำท่วมกรุงเทพมหานครในปี 2485 อุทกภัยครั้งนี้ส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างหนักทั้งทางภาคการเกษตร อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังภาคส่วนอื่นอีกเป็นจำนวนมาก พื้นที่ประสบอุทกภัยและมีการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมจนเดือนพฤศจิกายน ปี 2554  รวมทั้งสิ้น 65 จังหวัด ทั้งนี้ มีผู้เสียชีวิต 657 ราย สูญหาย 3 คน ราษฎรเดือดร้อน 4,039,459 ครัวเรือน 13,425,869 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 2,329 หลัง บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 96,833 หลัง พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหาย 11.20 ล้านไร่ ถนน 13,961 สาย ท่อระบายน้ำ 777 แห่ง ฝาย 982 แห่ง 
ทำนบ 142 แห่ง สะพาน/คอสะพาน 724 แห่ง

ปัจจัยที่ส่งผลทำให้เกิดอุทกภัย


1) ปัจจัยธรรมชาติ 

ฝนที่มาเร็วกว่าปกติและปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศ ตั้งแต่เดือนมกราคม–ตุลาคม พ.ศ. 2554 ที่มีปริมาณสูงกว่าค่าเฉลี่ย 35% อันเนื่องมาจากปรากฎการณ์ลานีญาที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2554 โดยช่วงเดือนมกราคม มีค่าดัชนี ENSO เท่ากับ -1.6 ซึ่งจัดว่าเป็นลานีญาระดับค่อนข้างแรง แต่สภาพลานีญาเริ่มมีอ่อนตัวลงจนกลับเข้าสู่สภาพเป็นกลาง (ดัชนี ENSO อยู่ระหว่าง -0.5 ถึง 0.5) ช่วงระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน และค่อย ๆ เริ่มกลับสู่สภาวะลานีญาอีกครั้งช่วงปลายปี ส่งผลให้ปี พ.ศ. 2554 ฝนมาเร็วกว่าปกติตั้งแต่เดือนมีนาคมและมีปริมาณฝนมากกว่าปกติเกือบทุกเดือน สามารถแสดงปริมาณฝนสะสมรายปีเทียบค่าเฉลี่ย 

นอกจากนั้นพายุในปี พ.ศ. 2554 ประเทศไทยได้รับอิทธิพลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากพายุที่เคลื่อนตัวมาจากทะเลจีนใต้ ทั้งหมด 5 ลูก ได้แก่ พายุโซนร้อนไหหม่า นกเตน ไห่ถาง เนสาด และนาลแก โดยพื้นที่ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักสุด โดยช่วงปลายเดือนมิถุนายนมีพายุโซนร้อน "ไหหม่า" พัดถล่มพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก ถัดมาในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม น้ำในพื้นที่ภาคเหนือยังไม่ทันระบายได้หมด พายุ “นกเตน” ได้พัดถล่มซ้ำพื้นที่เดิมอีก ทำให้ปริมาณน้ำยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ถัดมาได้มีพายุที่ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องอีก คือ พายุ “ไห่ถาง” ที่ส่งผลกระทบต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำโขง ในช่วงวันที่ 27-29 กันยายน พ.ศ. 2554 ต่อมาคือ พายุ “เนสาด” ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยต่อเนื่องจากพายุ “ไห่ถาง” บริเวณที่ได้รับผลกระทบยังคงเป็นพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและด้านตะวันออกของภาคเหนือ ส่วนพายุลูกสุดท้ายคือ พายุนาลแก ที่อิทธิพลของพายุส่งผลให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้นและทำให้มีฝนมากในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก 
ช่วงวันที่ 5-7 ตุลาคม พ.ศ. 2554

2) ปัจจัยกายภาพ

  • พื้นที่ต้นน้ำ มีป่าไม้รวมทั้งคุณภาพป่าไม้ลดลง
  • โครงสร้างน้ำไม่มีความยืดหยุ่นในการรับมือกับสถานการณ์ฝนในปัจจุบัน
  • ระบบโครงสร้างป้องกันน้ำท่วมมีประสิทธิภาพลดลงจากการทรุดตัวของพื้นที่ ขาดการบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เปลี่ยนไป
  • ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีศักยภาพการป้อนน้ำเข้าสู่ระบบสูบและอุโมงค์ระบายน้ำไม่สมดุลกับศักยภาพของระบบสูบและอุโมงค์
  • สะพานหลายแห่งเป็นปัญหาต่อการระบาย จากขนาดตอม่อใหญ่ ช่องสะพานขวางทางน้ำ
  • สิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น คลองเปรมประชากร และคลองลาดพร้าว 

3) ปัจจัยทางด้านการบริหารจัดการน้ำ

  • พื้นที่หน่วงน้ำในภาคเหนือตอนล่างขาดการดูแลและถูกรุกล้ำ ทำให้ความจุหน่วงน้ำลดลง เช่น บึงบอระเพ็ด บึงสีไฟ
  • การผันน้ำออกทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นไปอย่างไม่เต็มศักยภาพสูงสุด
  • ปริมาณน้ำระบายจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่ไหลมายังเขื่อนพระรามหก ไม่ได้ผันเข้าสู่คลองระพีพัฒน์แยกใต้อย่างเต็มศักยภาพ ทำให้น้ำส่วนใหญ่ไหลเข้าสู่อำเภอพระนครศรีอยุธยา
  • คลองระพีพัฒน์ไม่สามารถผันน้ำเข้าทุ่งตะวันออกได้ และในทางกลับกัน เรือกสวนไร่นาในทุ่งตะวันออกกลับสูบน้ำเข้าสู่คลองระพีพัฒน์
  • ปัญหาการบริหารการระบายผ่านแนวรอยต่อที่มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ
  • ประชาชนและองค์กรส่วนย่อยสร้างพนังและคันของตัวเอง ทำให้การระบายในภาพรวมไม่สามารถดำเนินการได้