การเตรียมความพร้อมด้านอาคารในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย

เอกสารเผยแพร่

การเตรียมความพร้อมด้านอาคารในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย

อุทกภัย เป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำในฤดูฝนทั้งในเขตเมืองและชนบท สามารถแบ่งตามลักษณะการเกิดได้เป็นหลายลักษณะ  ได้แก่ น้ำท่วมขังที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆค่อยเป็นค่อยไป ท่วมฉับพลันซึ่งเป็นลักษณะการเกิดน้ำท่วมหลากอย่างรวดเร็ว ในบริเวณหุบเขา เชิงเขา โดยกระแสน้ำเคลื่อนตัวด้วยความรุนแรงและรวดเร็ว ทำให้บ้านเรือนพังทลายเสียหายและมีอันตรายถึงชีวิตได้ และอุทกภัยอีกประเภทคือน้ำล้นตลิ่งที่ไหลเข้าท่วมเรือกสวน ไร่นาและบ้านเรือนตามสองฝั่งน้ำจนได้รับความเสียหาย 

อุทกภัยสามารถสร้างความเสียหายกับโครงสร้างอาคาร กระแสน้ำอาจจะกัดเซาะใต้พื้นดินอาจจะส่งผลต่อฐานรากของอาคารที่เรามองไม่เห็น  ความแรงของกระแสน้ำทำให้ถนนหรือสะพาน ชำรุด ทางคมนาคมถูกตัดขาด ความรุนแรงของกระแสน้ำอาจจะเซาะพื้นดินจนถล่ม น้ำชะหน้าดินทำให้ผิวถนนเสีย ทางเดินเป็นหลุมเป็นบ่อ กระแสน้ำอาจจะพัดพาซากปรักหักพัง ซากต้นไม้ขอนไม้มากองสะสมในพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณรั้ว ในส่วนตัวอาคารที่มีโอกาสได้รับความเสียหาย ได้แก่ ปูนฉาบ ฝาผนัง ฝ้าเพดาน หรือพื้นอาคาร อาคารเรียนที่แช่น้ำท่วมขังเป็นเวลานานอาจเกิดความชื้น เกิดเชื้อราส่งผลต่อทางเดินหายใจ  น้ำท่วมยังอาจจะทำความเสียหายให้แก่สายไฟฟ้า อุปกรณ์การเรียนการสอน โต๊ะนักเรียน น้ำที่ท่วมสูงอาจจะไหลเข้าไปในห้องเรียน ห้องปฏิบัติการต่างๆ ทำความเสียหายแก่อุปกรณ์อิเลคโทรนิค อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หนังสือในห้องสมุด เครื่องดนตรี  และหากน้ำท่วมเป็นเวลานานอาจทำให้วัสดุสิ่งของที่เป็นโลหะเกิดการผุกร่อนขึ้นสนิม เช่น ถังเก็บน้ำทำให้เกิดการปนเปื้อนของสิ่งสกปรก เชื้อโรคในอาหารในน้ำดื่มของสถานศึกษา

การตรวจสอบความเสี่ยงของอาคารสถานที่ในกรณีอุทกภัย ควรพิจารณาประเด็นต่อไปนี้

  • สถานศึกษาอยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือเส้นทางระบายน้ำหรือไม่
  • ในอดีตที่ผ่านมา มีเหตุการณ์อุทกภัยหรือไม่ เป็นอุทกภัยประเภทที่เกิดช้าหรือเกิดฉับพลัน มีความถี่ในการเกิดเพียงใด และในอนาคตมีโอกาสเกิดอุทกภัยอีกหรือไม่
  • อาคารเรียนมีโครงสร้างอย่างไร รากฐานอาคาร เสาและคาน มีความสามารถในการรับน้ำหนักมากหรือน้อยเพียงใด
  • ฐานรากอาคารได้รับการออกแบบให้ต้านทานแรงดันของกระแสน้ำท่วมทั้งแบบรุนแรงและแบบน้ำท่วมขังหรือไม่
  • ระดับความสูงของอุทกภัยในอดีตเป็นอย่างไร มีการทำเครื่องหมายแสดงระดับน้ำไว้หรือไม่
  • หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันสาธารณภัยมีข้อมูลความเสี่ยงในพื้นที่หรือไม่ ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับสถานศึกษามีอะไรบ้าง
  • หากเกิดอุทกภัย การเดินทางมาสถานศึกษาของครู บุคลากรและนักเรียนเป็นอย่างไร ปลอดภัยหรือไม่
  • พื้นที่สำคัญในอาคารเรียน เช่น ห้องเรียน ระบบน้ำ ระบบไฟฟ้า ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบสื่อสารจะได้รับผลกระทบจากอุทกภัยหรือไม่ อย่างไร

การหลีกเลี่ยงหรือลดผลกระทบของน้ำท่วมที่มีต่อโครงสร้าง อาคารและสถานที่นั้นอาจจะทำได้ยาก หากโครงสร้างไม่ได้รับการออกแบบมาเพื่อต้านทานอุทกภัย  สถานศึกษาแบบเก่าอาจเป็นเรือนไม้ยกสูง ปล่อยพื้นที่ชั้นล่างว่างเปล่า แต่ก็มีหลายแห่งที่ต่อเติมพื้นที่ชั้นล่างเป็นห้องเรียน ห้องสมุด ห้องกิจกรรมต่างๆ อย่างไรก็ตาม สถานศึกษาสามารถปรับปรุงอาคาร สภาพแวดล้อมและพื้นที่ได้ดังนี้

  • เปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ เช่น ย้ายห้องเรียนออกจากอาคารเรียนที่น้ำท่วมถึง
  • เสริมความแข็งแรงของตลิ่ง ป้องกันการกัดเซาะโดยการปลูกหญ้าแฝกหรือไผ่ หรือขุดลอกให้ตลิ่งมีความกว้างมากขึ้น หรือเพื่อเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำ
  • พิจารณาดีดอาคาร หรือยกพื้นให้พ้นระดับน้ำท่วม
  • ปรับปรุงระบบระบายน้ำ เช่น เพิ่มขนาดท่อระบายน้ำ รางน้ำ จัดทำพื้นที่แก้มลิง
  • จัดให้มีเครื่องสูบน้ำและเครื่องปั่นไฟเพื่อเป็นไฟสำรองเวลาไฟฟ้าหลักดับ
  • ตรวจสอบระบบท่อน้ำทิ้ง ท่อระบายสิ่งปฏิกูลในห้องน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำทะลักดันกากปฏิกูลขึ้นมาตามท่อระบาย
  • หากอาคารมีหลายชั้น ควรย้ายห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องดนตรี และห้องที่มีอุปกรณ์อิเลคโทรนิกไว้ชั้นบน
  • ยกสายไฟฟ้า ปลั๊กไฟ ตู้น้ำดื่มที่ใช้ไฟฟ้า หรือแทงค์น้ำให้สูงกว่าระดับน้ำท่วมถึง
  • หากมีการปรับปรุงอาคาร เช่น การทาสีใหม่ ควรใช้สีที่มีคุณลักษณะป้องกันเชื้อรา กันชื้น เป็นต้น