การเตรียมความพร้อมด้านอาคารสถานที่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว

การบริหารจัดการของโรงเรียน

การเตรียมความพร้อมด้านอาคารสถานที่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว

แผ่นดินไหวเป็นภัยที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายกับโครงสร้างอาคารได้ในหลายระดับทั้งในระดับรุนแรง เช่น อาคารถล่ม และในระดับไม่รุนแรง เช่น ผนังพังทลาย สิ่งของตกหล่นมาถูกผู้ประสบภัยทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ดังนั้น ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับความแข็งแรงของโครงสร้างอาคารเป็นอันดับแรก  ประเทศไทยมีการกำหนดพื้นที่เฝ้าระวังแผ่นดินไหวไว้ 3 ระดับ ได้แก่

“บริเวณเฝ้าระวัง” หมายความว่า พื้นที่หรือบริเวณที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จังหวัดชุมพร จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดระนอง จังหวัดสงขลา และจังหวัดสุราษฎร์ธานี

“บริเวณที่ 1” หมายความว่า พื้นที่หรือบริเวณที่เป็นดินอ่อนมากที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวระยะไกล ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร

“บริเวณที่ 2” หมายความว่า พื้นที่หรือบริเวณที่อยู่ใกล้รอยเลื่อนที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตาก จังหวัดน่าน จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปาง และจังหวัดลำพูน

การกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว ปรากฎอยู่ในกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2550 ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2550  ซึ่งระบุให้มีการบังคับใช้มาตรฐานว่าด้วยการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวที่สภาวิศวกรรับรอง หรือที่จัดทำโดยส่วนราชการหรือนิติบุคคลซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมกับอาคารสาธารณะหลายประเภท เช่น สถานศึกษา สถานรับเลี้ยงเด็กอ่อน โรงมหรสพ หอประชุม หอศิลป์ พิพิธภัณฑสถาน หอสมุด ศาสนสถาน สนามกีฬา อัฒจันทร์ ตลาด ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานีรถ และโรงแรม  (รายละเอียดปรากฎในกฎกระทรวง เล่ม 124 ตอนที่ 86 ก ราชกิจจานุเบกษา 30 พฤศจิกายน 2550) ใช้ควบคุมเฉพาะอาคารที่ได้รับใบอนุญาตภายหลังกฎกระทรวงฯมีผลบังคับ (30 พฤศจิกายน 2550) อาคารที่ก่อสร้างไว้แล้ว หรืออาคารที่มีอยู่เดิม หรืออาคารที่ได้รับใบอนุญาตก่อนหน้านี้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง  แต่กฎกระทรวงเกี่ยวกับการเสริมความมั่นคงแข็งแรงของอาคารเก่าหรืออาคารที่มีอยู่เดิมให้สามารถต้านทานแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้แก่กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตดัดแปลงอาคาร เพื่อเสริมความมั่นคงแข็งแรงของอาคารให้สามารถต้านแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว พ.ศ. 2555

จากการวิจัยโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย (ระยะที่ 2) เรื่องการประเมินระดับความต้านทานแผ่นดินไหวของอาคารในประเทศไทยและการปรับปรุงอาคารให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวในระดับที่เหมาะสม นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย และคณะ  เพื่อสำรวจอาคารเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือซึ่งมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวมากที่สุดจากรอยเลื่อนมีพลัง 2 รอยเลื่อนที่สำคัญคือ รอยเลื่อนแม่ทา ซึ่งอยู่ใกล้จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ประมาณ 20 กิโลเมตร และรอยเลื่อนเถิน ที่อยู่ใกล้จังหวัดลำปาง ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน แพร่  น่าน ตาก ลำปาง พะเยา และลำพูน ผลการศึกษาพบว่า อาคารในรูปแบบการก่อสร้างอาคารเรียนของ สพฐ.ทุกวันนี้มีความเสี่ยงที่จะพังทลายสูงมากหากประสบปัญหาแผ่นดินไหวในขนาด 6-7 ริกเตอร์ โดยไม่ว่าอาคารจะมีกี่ชั้นก็จะมีโอกาสพังทลายได้เหมือนกันทั้งหมด เพราะเนื่องจากอาคารจะเป็นในรูปแบบเดียวกันคือด้านกว้างแคบและจะยาวออกไปด้านข้าง และยิ่งอาคารมีระดับ 2 ชั้นขึ้นไปยิ่งพบว่าจะมีปัญหาการพังทลายของอาคารที่เสียหายได้มากขึ้น สำหรับในด้านความแคบนั้นจะพบอัตราการพังที่น้อยกว่าด้านยาว ซึ่งจะเกิดการพังทลายในรูปแบบของการเอนตัวของเสาได้ แต่หากมีระดับแผ่นดินไหวประมาณ 4-5 ริกเตอร์ก็จะทำให้เห็นการแตกหรือรอยร้าวของผนังอาคารและเสาได้ ไม่ถึงขนาดพังทลาย แต่รอยร้าวจะสะสมขึ้นอย่างต่อเนื่องและทำให้เกิดความเสี่ยงในการใช้งาน สำหรับอาคารที่สูงเกินกว่า 2 ชั้น ลักษณะการพังทลายของอาคารเรียนของ สพฐ.จึงมีโอกาสเกิดขึ้นจากการโย้ของเสาในชั้นที่ 1 ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม การวิบัติของอาคารนั้นจะไม่เกิดขึ้นจากการประสบปัญหาแผ่นดินไหวในระดับสูงกว่า 6 ริกเตอร์เท่านั้น แต่หากมีแผ่นดินไหวในระดับต่ำกว่าแต่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาคารเรียนต่างๆ ก็มีโอกาสที่จะวิบัติจากรอยร้าวที่เกิดขึ้นทีละนิดๆ ได้เช่นกัน

อาคารเรียนของ สพฐ. ส่วนใหญ่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวจึงมีโอกาสที่จะเกิดความเสียหายต่อโครงสร้างอาคารเมื่อเกิดแผ่นดินไหว แต่อาจจะไม่ถึงกับทำให้อาคารพังทลายในทันที ตัวอย่างความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอาคารเรียนเมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงราย ได้แก่ ผนังอาคารร้าว ผนังพังทลาย เสาอาคารทรุดเอียง ฝ้าเพดานหลุดร่วง คานหัก กระเบื้องหลังคาแตกพังทลาย ไฟฟ้าลัดวงจร เป็นต้น

การสร้างอาคารเรียนต้านแผ่นดินไหวเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการปกป้องอันตรายจากแรงสั่นสะเทือน แต่อย่างไรก็ตาม แนวทางเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างอาคารเพื่อการป้องกันปัญหาอาคารเรียนเสียหายในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวก็มีหลายวิธีที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น

  • การใช้โครงค้ำยันเหล็กเข้าเสริมทั้ง 4 ชั้น พบว่าโอกาสเกิดการพังทลายของอาคารเรียนจะไม่เกิดขึ้นเลย  แม้จะเกิดแผ่นดินไหวระดับ 6-7 ริกเตอร์
  • การเสริมกำลังผนังอิฐก่อเพื่อต้านทานแรงแผ่นดินไหวด้วยเฟอโรซีเมนต์ (FRP) หรือตะแกรงเหล็กฉีกซึ่งมีราคาถูกกว่าและไม่กีดขวางการใช้งานอาคารเรียน

ทั้งนี้ ในการเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างอาคารจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำและตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมโครงสร้าง มีการปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคารอย่างเข้มงวดในการสร้างหรือต่อเติมอาคาร และจะต้องมีการกำกับดูแลควบคุมคุณภาพการก่อสร้างต่อเติม เสริมความแข็งแรงของอาคารอย่างถูกหลักวิชาการ