การเตรียมความพร้อมด้านอาคารในพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิ

การบริหารจัดการของโรงเรียน

การเตรียมความพร้อมด้านอาคารในพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิ

คลื่นสึนามิเป็นคลื่นความยาวที่เกิดจากแผ่นดินไหวในทะเล การระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเล หรืออาจจะเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การทดลองขีปนาวุธในทะเล ในกรณีที่เกิดจากแผ่นดินไหว ความรุนแรงจากการสั่นสะเทือนของเปลือกโลกจะมีมากน้อยแตกต่างกันไปแต่ละคราว บริเวณที่เป็นแนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกจึงมักเกิดแผ่นดินไหวขึ้นบ่อยครั้ง ในพื้นที่ใกล้แหล่งกำเนิดคลื่นสึนามิมีความยาวช่วงคลื่นมาก ความสูงของคลื่นน้อยแพร่ออกไปเป็นวงทุกทิศทาง ด้วยความเร็วประมาณ 700 กิโลเมตร/ชั่วโมง เมื่อคลื่นดังกล่าวเคลื่อนเข้าหาชายฝั่งทะเลที่น้ำตื้นจะมีการเปลี่ยนแปลงความยาวช่วงคลื่นลดลง แต่ความสูงของคลื่นจะเพิ่มขึ้น ทำให้มีพลังทำลายล้างอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม ชายฝั่งที่มีแผ่นดินส่วนอื่นๆ กำบังมักปลอดภัยจากคลื่น นอกจากนี้ คลื่นไม่จำเป็นต้องมีความแรงเท่ากันในทุกทิศทุกทาง โดยความแรงจะขึ้นกับแหล่งกำเนิดและลักษณะของภูมิประเทศ

พื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิในประเทศไทยมี 2 ด้าน ฝั่งอันดามันมี 6 จังหวัด ได้แก่ พังงา  ตรัง กระบี่ สตูล ระนอง ภูเก็ต ส่วนพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิฝั่งอ่าวไทยได้แก่ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ ปัตตานี เพชรบุรี ระยอง สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุราษฏร์ธานี

สถานศึกษาที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลในจังหวัดที่มีความเสี่ยงภัย ควรตรวจสอบความเสี่ยงภัยสึนามิ และภัยอื่นๆที่เกิดขึ้นในบริเวณชายฝั่งด้วย เช่น สตอร์มเซิร์จ (storm surge) คลื่นกัดเซาะชายฝั่ง (coastal erosion) โดยตรวจสอบกับหน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรจัดหาแผนที่ความเสี่ยงภัยสึนามิ แผนที่เส้นทางอพยพ และพื้นที่หลบภัย เพื่อใช้ประกอบการวางแผนจัดการภัยพิบัติและแผนอพยพจากภัยสึนามิในสถานศึกษา

การตรวจสอบอาคารสถานที่ ควรคำนึงถึงประเด็นต่อไปนี้

  • สถานศึกษาอยู่ในพื้นที่ที่คลื่นสึนามิจะซัดมาถึงหรือไม่
  • มีการตรวจสอบความแข็งแรงของอาคารเรียนและอาคารประกอบ เรื่องความสามารถในการต้านทานแผ่นดินไหวและแรงกระแทกของคลื่นสึนามิหรือไม่
  • มีการตรวจสอบความปลอดภัยของสภาพห้องเรียน เช่น พัดลม ฝ้าเพดาน หน้าต่างกระจก ตู้ หรืออุปกรณ์อื่นๆที่อาจจะร่วง หล่น ล้มลงมาทับนักเรียนหรือไม่
  • อาคารเรียนหรืออาคารประกอบมีความสูงและแข็งแรงพอที่จะต้านทานแรงคลื่นและใช้เป็นที่หลบภัยสึนามิชั่วคราวหรือไม่
  • หากอาคารเรียนสามารถใช้เป็นที่ปลอดภัย ควรตรวจสอบห้องน้ำและระบบน้ำดื่มน้ำใช้ และระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ เพราะหากมีการใช้อาคารเรียนเป็นจุดปลอดภัยจะต้องคำนึงถึงกิจกรรมระหว่างหลบภัยด้วย เช่น การเข้าห้องน้ำ การใช้น้ำอุปโภคบริโภค ระบบไฟฟ้า  พื้นที่เก็บสิ่งของ อาหาร และพื้นที่ทำกิจกรรม
  • หากอาคารเรียนหรืออาคารใดๆไม่สามารถใช้เป็นที่หลบภัยชั่วคราวได้ จะต้องจัดให้มีเส้นทางอพยพไปยังจุดรวมพลนอกพื้นที่สถานศึกษาอย่างชัดเจน และทำป้ายเส้นทางอยพยและจุดรวมพลให้ทุกคนรู้จักคุ้นเคย
  • สถานศึกษาอยู่เส้นทางอพยพที่ปลอดภัยตามแผนป้องกันภัยพิบัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่
  • จุดปลอดภัยที่กำหนดไว้ในแผนป้องกันภัยพิบัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีพื้นที่เพียงพอในการรองรับนักเรียนทั้งหมดและคนในชุมชนที่ไปหลบภัยหรือไม่
  • มีโอกาสที่จะเกิดคลื่นสึนามิและคลื่นซัดชายฝั่งตามแนวถนนที่เป็นเส้นทางเข้า-ออกหรือไม่